6 มีนาคม 2557

เลสิกแก้สายตา



เลสิกแก้สายตา

คำถาม :    การผ่าตัดแก้ปัญหาสายตาเป็นการทำผ่าตัดส่วนใดของตา
คำตอบ :    การแก้ปัญหาสายตาผิดปกติ คือ สายตาสั้น (myopia) สายตายาว (hyperopia) หรือสายตาเอียง (astigmatism) นอกจากการใช้แว่นตา และคอนแทคเลนส์แล้ว ปัจจุบันมีการผ่าตัดหลายแบบเพื่อแก้ปัญหาสายตา ทั้งการผ่าตัดที่เลนส์แก้วตา (phaco-refractive surgery) หรือการผ่าตัดที่กระจกตาดำ (kerato-refractive surgery) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่หักเหแสงที่สำคัญของดวงตา เพื่อลดความโค้งหรือความหนาของกระจกตา ทำให้ผู้ป่วยหายสายตาสั้น สายตาเอียง หรือแม้แต่สายตายาว






คำถาม :    การผ่าตัดทำ Excimer เหมือนกับการทำเลสิก (Lasik) หรือไม่
คำตอบ :    การใช้ Excimer laser เป็นวิธีการหนึ่งในกลุ่มการทำให้ความหนาของกระจกตาบางลงเพื่อแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน โดยมีหลักการในการใช้แสงเลเซอร์ชนิด Excimer (ความยาวคลื่นประมาณ 193 นาโนเมตร) ยิงบริเวณกระจกตาในตำแหน่งที่ต้องการให้บางลง เพื่อลดการหักเหของแสงที่กระจกตา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ
        Photo-refractive keratectomy (PRK) ทำโดยการยิงเลเซอร์ไปบนกระจกตาในบริเวณที่ต้องการโดยไม่มีการใช้มีด (microkeratome) ฝานกระจกตาก่อนยิงเลเซอร์ สามารถทำได้ในผู้ที่มีสายตาสั้นไม่มาก แต่มีข้อเสียคือ หลังทำผู้ป่วยจะเคืองตามากเนื่องจากมีการสูญเสียเซลล์ epithelium ของกระจกตาบริเวณนั้น
    การทำ Lasik (Laser in situ keratomileusis) จะมีการใช้มีด (microkeratome) ฝานกระจกตาบริเวณที่จะยิงเลเซอร์เปิดออกก่อน และยิงเลเซอร์ excimer ไปบริเวณที่ต้องการ แล้วจึงปิดฝากระจกตาที่ฝานไว้กลับที่เดิม ทำให้ไม่มีการสูญเสีย epithelium ของกระจกตา ผู้ป่วยจึงไม่เคืองตา ทำให้วิธีนี้เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า excimer เป็นชื่อของเลเซอร์ที่นิยมนำมาใช้ในการผ่าตัดแก้สายตาผิดปกติ ส่วน Lasik เป็นชื่อวิธีซึ่งนิยมทำในปัจจุบัน

คำถาม :    ผู้ป่วยกลุ่มใดจึงจะเหมาะสมกับการทำเลสิก
คำตอบ :    ผู้ป่วยที่จะมาทำเลสิก ต้องแน่ใจว่ามีความตั้งใจในการจะทำ เนื่องจากไม่สะดวกในการแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยวิธีอื่น เช่น การใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ นอกจากนั้นยังต้องมีภาวะสายตาที่คงที่มาอย่างน้อย 1 ปี (เพราะถ้าสายตายังไม่คงที่ หลังทำอาจต้องกลับมาใส่แว่นอีก เมื่อระดับสายตาเปลี่ยนไป) จึงควรทำในผู้ที่มีอายุเกินกว่า 18 ถึง 20 ปี เพราะลูกตาเจริญเติบโตเต็มที่และมักมีสายตาที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาก
        นอกจากนั้นผู้ป่วยต้องไม่เป็นโรคของดวงตา เช่นเปลือกตาอักเสบที่ยังไม่ได้รับการรักษา, โรคตาแห้งอย่างรุนแรง, โรคกระจกตาโค้งผิดปกติ (keratoconus) หรือโรคต้อหินระยะรุนแรง  รวมทั้งต้องไม่เป็นโรคทางร่างกายบางโรค เช่น โรครูมาตอยด์, โรคเอส แอล อี, ไม่ได้กำลังได้รับยาเคมีบำบัด (จะมีผลต่อการหายของแผลเลสิก), ไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือเพิ่งคลอดบุตรภายใน 6 เดือน (เพราะภาวะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อการหายของแผลที่กระจกตา)
        สำหรับระดับสายตาผิดปกติที่เหมาะสมในการทำเลสิก คือสายตาสั้นน้อยกว่า 15.00 ไดออปเตอร์ (หรือที่เรียกทั่วไปว่าสายตาสั้น 1500) ขึ้นกับความหนาของกระจกตา ซึ่งจักษุแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆไป สายตาเอียงไม่เกิน 6.00 ไดออปเตอร์ หรือสายตายาวไม่เกิน 6.00 ไดออปเตอร์ (การใช้เลเซอร์แก้สายตายาวได้ผลน้อยกว่าการแก้สายตาสั้นหรือสายตาเอียง) ส่วนการทำ PRK จะทำในผู้ที่สายตาสั้นไม่เกิน 9.00 ไดออปเตอร์ สายตาเอียงไม่เกิน 6.00 ไดออปเตอร์ และสายตายาวไม่เกิน 4.00 ไดออปเตอร์

คำถาม :    ใช้เวลาในการทำนานหรือไม่ และขณะทำเจ็บมากหรือไม่
คำตอบ :    เวลาในการฉายแสงเลเซอร์เพียงข้างละ ครึ่งถึงหนึ่งนาที แต่หากรวมเวลาทั้งหมดจะประมาณ 30 นาทีต่อตาหนึ่งข้าง ขณะทำจะใช้การหยอดยาชา โดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บเลย

คำถาม :    ค่าใช้จ่ายในการทำแพงหรือไม่ ใช้สิทธิเบิกราชการได้เท่าใด
คำตอบ :    ค่าใช้จ่ายในการทำเลสิกในโรงพยาบาลของรัฐประมาณ 20,000 ถึง 35,000 บาทต่อข้าง หากทำพร้อมครั้งสองตาค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000 ถึง 60,000 บาท หากเป็นโรงพยาบาลเอกชน อาจมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นแล้วแต่โรงพยาบาล

คำถาม :    ผู้มีอายุที่เริ่มอ่านหนังสือใกล้ไม่เห็น สามารถทำเลสิกได้หรือไม่
คำตอบ :    การทำเลสิกไม่สามารถแก้ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ (presbyopia) ซึ่งจะมีปัญหาอ่านหนังสือระยะใกล้ไม่ชัด แต่อาจใช้เลเซอร์เพื่อให้ตาข้างหนึ่งเห็นภาพที่ระยะไกลชัด และตาอีกข้างหนึ่งเห็นภาพที่ระยะใกล้ชัด ขึ้นกับการพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับจักษุแพทย์
คำถาม :    อันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการทำเลสิกมีหรือไม่
คำตอบ :    ปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบหลังการทำเลสิก เช่นการเห็นแสงสะท้อนบริเวณดวงไฟ (glare) พบได้ 3-40% ขึ้นกับขนาดรูม่านตาผู้ป่วยและขนาดบริเวณที่ยิงเลเซอร์ ซึ่งปัญหานี้มักหายไปในที่สุด, ปัญหาตาแห้ง พบได้ 3-60% แก้ไขโดยการใช้น้ำตาเทียม, ปัญหาการติดเชื้อพบน้อยเพียง 0-02-0.1%

คำถาม :    หลังทำแล้ว จะไม่ต้องใส่แว่นไปตลอดชีวิตเลยได้หรือเปล่า
คำตอบ :    โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะพยายามเลเซอร์ให้ผู้ป่วยไม่ต้องใส่แว่นอีก แต่ในระยะยาวหากมีสายตาเปลี่ยนแปลง หรือเกิดการซ่อมแซมตัวเองของกระจกตามาก อาจมีสายตาสั้นได้อีก โดยทั่วไปมักไม่มากเหมือนก่อนทำ และยังสามารถทำ excimer ซ้ำได้

ที่มา ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

0 ความคิดเห็น:

รู้จักพวกเรา

แจก แบบฝึกคณิตศาสตร์ แบบทดสอบ แบ่งปัน สำหรับเพื่อน วัยเด็ก

เด็ก ๆ น่ารัก 3 พี่น้อง
From January 2, 2013

ค้นหา เนื้อหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Labels