8 เมษายน 2556

ดนตรีพัฒนา 6Q


ดนตรีพัฒนา 6Q

             ดนตรีเปรียบเสมือนขนมหวานและเป็นดั่งอาหารสมองที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของเด็ก เพราะดนตรีเป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ ชอบ เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับดนตรี สมองทั้งสองซีกก็จะทำงานอย่างสมดุล
1. เคล็ดลับพัฒนา IQ ด้วยดนตรี IQ หรือ Intelligence Quotient คือ ระดับความสามารถทางสติปัญญา ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ 50 เปอร์เซ็นต์ และเกิดจากสิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ความสามารถทางสติปัญญา หมายถึง การจำภาษา และความสามารถในการคิดวิเคราะห์เชิงตรรกะหรือคณิตศาสตร์ซึ่งต้องอาศัยการคิดอย่างมีเหตุผล





            สิ่งที่คุณครูควร
            
1.  ให้เด็กคิดท่าเต้นประกอบเสียงดนตรี หรือบทเพลงตามจินตนาการ เพราะจะช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และกระตุ้นให้สมองกระปรี้กระเปร่า
            2.ให้เด็กเล่นเครื่องดนตรี เพราะช่วยให้สมองซีกซ้ายและซีกขวาทำงานประสานสัมพันธ์กัน ในขณะที่เด็กอ่านและจำโน้ตเพลง สมองซีกซ้ายจะทำงาน ขณะที่เด็กกำลังสนุกสนานเพลิดเพลินและสัมผัสความไพเราะของดนตรี สมองซีกขวาก็จะทำงานควบคู่กันไป
            3.สอนให้เด็กร้องเพลงและพูดคำคล้องจอง เพราะช่วยให้เด็กรู้จักคำศัพท์มากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะด้านภาษาที่ดีวิธีหนึ่ง
2. เคล็ดลับพัฒนา EQ ด้วยดนตรี EQ หรือ Emotional Quotient คือ ระดับความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การมองโลกในแง่ดี การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี การปรับตัวเข้ากับสังคม การมีอารมณ์สุนทรีย์และการมีปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้อื่
            สิ่งที่คุณครูควรทำ
            1เปิดเพลงคลาสสิกหรือเพลงไทยเดิม ที่มีเสียงกระตุ้นอารมณ์และจิตใจ เช่น เพลง “Jesu Joy of Man’s Desiring”ของบาค (Bach) ซึ่งช่วยทำให้จิตใจอ่อนโยน หรือเพลง ค้างคาวกินกล้วยที่ช่วยให้เด็กมีอารมณ์สดชื่นแจ่มใส
            2. เปิดโอกาสให้เด็กทำกิจกรรมทางดนตรีร่วมกับคนอื่น เช่น ร้องเพลง เต้นรำ หรือเล่นดนตรีกับเพื่อน ๆ เพราะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องดนตรี และปรับตัวเข้ากับสังคมได้ง่ายขึ้น เรียนรู้การเป็นผู้นำผู้ตาม ซึ่งเป็นพื้นฐานทางสังคมที่ดี
3. เคล็ดลับพัฒนา MQ ด้วยดนตรี MQ หรือ Moral Quotient คือ ความฉลาดด้านจริยธรรมและศีลธรรม เช่น การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น และปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยจิตใจเมตตา มีความรัก ความปรารถนาดี
            สิ่งที่คุณครูควรทำ
            
1. เปิดเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการช่วยเหลือ การแบ่งปัน และความซื่อสัตย์ให้เด็ก ๆ ฟัง พร้อมทั้งพูดคุยถึงเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมร่วมกัน
            2.เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมดนตรีร่วมกับเพื่อนเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ถึงมิตรภาพและการแบ่งปัน
            3.เลือกเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปลูกฝังความรักซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาศีลธรรมและจริยธรรม
4. เคล็ดลับพัฒนา AQ ด้วยดนตรี AQ หรือ Adversity Quotientคือระดับความสามารถในการเผชิญปัญหา การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและความเพียรพยายามในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเอง ซึ่งความสามารถด้านนี้ต้องได้รับการฝึกฝนตั้งแต่ยังเล็ก
            สิงที่คุณครูควรทำ
            
1.ฝึกให้เด็กเล่นเครื่องดนตรีแบบคนเดียว เช่น เปียโน ระนาด ขิม กีตาร์ ไวโอลิน เพราะการเล่นดนตรีเด็กต้องอาศัยการฝึกฝนและความเพียรพยายามในการเล่นให้ถูกต้องตามจังหวะ โน้ตเพลง เพื่อให้มีความไพเราะ ซึ่งถ้าเด็กสามารถทำได้เขาก็จะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง การเกิดความรู้สึกดี ๆ แบบนี้ จะส่งผลดีต่อเด็กในอนาคต เช่น ถ้าเขาอยากทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ เขาก็จะมุ่งมั่นตั้งใจเพียรพยายามทำให้ได้ในที่สุด
            2.ฝึกให้เด็กเล่นเครื่องดนตรีร่วมกับคนอื่น เช่น ให้เด็ก ๆ ตั้งวงดนตรี ที่มีทั้งนักดนตรี นักร้อง และหางเครื่อง เพราะเมื่อเกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน เด็กจะได้รู้จักการเผชิญปัญหาและฝึกแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่สำคัญ คุณครูต้องคำนึงถึงวัยและความสามารถของเด็กด้วยว่าเหมาะที่จะเล่นอะไร และให้เขาเลือกเองว่าอยากเล่นเครื่องดนตรีประเภทไหน เพราะถ้าเขาได้เลือกในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ย่อมทำได้ดีกว่าการถูกบังคับ
              เลือกเพลงประเภทนิทานที่สอดแทรกคำถามปลายเปิดให้เด็ก ๆ ได้คิดแก้ไขปัญหา เช่น ถ้าเห็นลูกลิงตกน้ำ หนูจำทำอย่างไรเด็กบางคนอาจจะบอกว่า โยนกิ่งไม้ลงไปช่วยลูกลิงหรือบางคนอาจจะบอกว่า ไปเรียกคุณครูมาช่วยซึ่งคำตอบของเด็กไม่มีผิดหรือถูกเพราะเด็กตอบไปตามประสบการณ์ที่ตนเองเคยเห็นหรือเคยได้ยินมา ถ้าคุณพ่อคุณแม่และคุณครูเห็นว่าคำตอบของเด็กยังไม่ดีนัก หรืออยากเพิ่มประสบการณ์แปลกใหม่ให้เด็ก ก็ควรพูดคุยและเสริมความคิดให้เขาแทนการตำหนิ
5. เคล็ดลับพัฒนา SQ ด้วยดนตรี SQ หรือ Apiritual Quotient คือ ปัญญาทางด้านจิตวิญญาณหรือหมายถึงการเป็นคนที่มีสมาธิและมีจิตใจสงบเยือกเย็น มีความเมตตากรุณา ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่รังแกสัตว์ และไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยส่วนมากความหมายของ SQ มักแฝงนัยทางศาสนาไว้
            สิ่งที่คุณครูควรทำ 
            1.เปิดเพลงคลาสสิกของโมสาร์ต บาค หรือบีโธเฟน ให้เด็ก ๆ ฟังขณะกำลังทำงาน เพราะเพลงคลาสสิกมีท่วงทำนองสบาย ๆ ช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น
            2.เปิดเพลงที่มีเสียงธรรมชาติ อาจจะเป็นเสียงธรรมชาติประกอบดนตรี หรือเสียงธรรมชาติอย่างเดียว ในขณะที่เด็กกำลังทำกิจกรรมส่วนตัว นอนพักกลางวัน หรือก่อนนอนตอนกลางคืน จะช่วยให้เด็ก ๆ มีจิตใจสงบเยือกเย้นขึ้น
            3.เปิดดนตรีของศาสนา เช่น เพลงสวดของคาทอลิก หรือการสวดมันตราของพระธิเบต จะช่วยให้จิตใจสงบและเกิดสมาธิ
6. เคล็ดลับพัฒนา PQ ด้วยดนตรี PQ หรือ Play Qoutientคือ ความฉลาดที่เกิดจากการเล่นและการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง การเล่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก เพราะช่วยให้เด็กมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่เด็ก ๆ กำลังเล่นอย่างมีความสุขสนุกสนาน สมองของเขาก็จะเกิดการเรียนรู้ ฉะนั้นยิ่งเด็กได้เล่นอย่างสร้างสรรค์มากเท่าไร สมองของเขาก็ยิ่งเติบโตและเซลล์สมองก็จะเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นเท่านั้น
            สิ่งที่คุณครูควรทำ
            1.เปิดโอกาสให้เด็กได้ร้องเพลงหรือเต้นรำตามแบบที่เขาชอบ เพราะในขณะที่เด็กทำกิจกรรม เขากำลังเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่นี้ไว้ ซึ่งขณะที่สมองกำลังบันทึกข้อมูล เซลล์สมองก็จะแตกแขนงเชื่อมโยงกับเซลล์สมองส่วนอื่น ทำให้เรียนรู้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าเด็กคนอื่น
            2.ให้เด็กเล่นเครื่องดนตรี เพราะเด็กจะได้คิดหาวิธีเล่นอย่างสร้างสรรค์ เช่น ให้ลองเล่นเครื่องดนตรีที่ไม่เคยเล่นมาก่อน หรือให้ลองเล่นดนตรีในจังหวะแปลก ๆ หรือแต่งเพลงเอง
            3.เลือกเพลงที่มีเนื้อหากระตุ้นให้เด็กคิดท่าทางเอง เช่น เพลง ระบำเต่าทอง”(อยู่ในหนังสือชุด ดนตรีหรรษาพัฒนา IQ&EQ&MQเรื่อง ร้องเล่นเต้นสนุกของดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ และดร.แพง ชินพงศ์) เมื่อร้องถึงท่อน เหนื่อยแล้วแปลงร่างเป็นก้อนหินเด็กจะได้คิดท่าแข็งเป็นก้อนหินด้วยตนเองและสามารถเปลี่ยนท่าแปลก ๆ ใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ ผู้เขียนเคยนำเพลงนี้ไปทดลองใช้กับเด็ก ๆ และพบว่าเด็ก ๆ ชอบและสนุกสนานกันมาก แต่ละคนสร้างสรรค์ท่าเต้นของตนเองกันแบบสนุกสุด ๆ
            แหล่งที่มา : ดนตรีเพิ่มพลังสมอง เขียนโดย ดร.แพง ชินพงศ์ สำนักพิมพ์ แฮปปี้ แฟมิลี่
ดนตรีเพื่อผ่อนคลายหรือสร้างแรงจูงใจ
 
             “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนักประโยคนี้เชื่อว่าคุณครูหลายท่านคงเคยได้ยินมาแล้ว เพียงแต่จะมีคุณครูท่านไหนที่รู้ถึงความสำคัญและเล็งเห็นประโยชน์ของดนตรีนี้ว่า สามารถช่วยกระตุ้นและพัฒนาสมองของเด็ก ๆ ให้พร้อมเปิดรับการทำกิจกรรมต่าง
             ดนตรีทุกประเภทที่เราได้ฟังนั้นจะมีส่วนช่วยทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะดนตรีจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมองและร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งข้อมูลที่อยู่ในรูปของไฟฟ้าเคมีผ่านเครือข่ายระบบประสาท หมายความว่า ดนตรีบางประเภทสามารถเตรียมสมองให้พร้อมสำหรับทำงานได้ในระดับหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เพลงของโมสาร์ตมีผลต่อทางเดินไฟฟ้าเคมีในสมอง จึงช่วยให้สามารถทำงานประเภทที่ต้องคิดอย่างมีเหตุมีผลได้ดี
             นอกจากนี้ดนตรียังทำให้ปริมาณสารความเครียดในสมองเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ด้วย อย่างเช่น เพลงบรรเลงที่เล่นด้วยจังหวะเคาะประมาณหกสิบครั้งต่อนาทีนั้นจะทำให้หัวใจเต้นช้าลง และช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและรสนิยมการฟังดนตรีของแต่ละบุคค]
             ดนตรีที่เอื้อต่อการเรียนรู้ คือ ดนตรีที่บรรเลงที่ช่วยให้นักเรียนผ่อนคลายในขณะที่จดจ่อกับเนื้อหาวิชาดนตรีประเภทนี้ไม่ได้ทำให้นักเรียนเกิดความบันเทิง แต่ช่วยบำรุงรักษาสมาธิในการเรียนและการทำงาน ดังนั้น ถ้าคุณครูพิถีพิถันกับการเลือกดนตรีก็จะได้รับผลที่น่าพึงพอใจ เพราะนักเรียนมีความพร้อมที่จะทำกิจกรรมและมีสมาธิมากยิ่งขึ้น เพลงไหนเล่นด้วยเครื่องดนตรีมากชิ้น จังหวะช้า และเคาะเป็นจังหวะสม่ำเสมอก็จะยิ่งมีประโยชน์มากขึ้น เสียงดนตรีที่เล่นคลอเนื้อเรื่องมีผลต่อการทำงานของร่างกาย ยิ่งจังหวะเร็วเท่าไร ร่างกายก็จะยิ่งตื่นตัวมากเท่านั้น ในทางกลับกัน ยิ่งจังหวะช้าลง ร่างกายก็จะยิ่งผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการแยกแยะและกระบวนการจำในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียน เสียงดนตรีที่เหมาะกับการเต้นของหัวใจ (หนึ่งเคาะต่อวินาที) จะช่วยสร้างสภาวะ ฝันกลางวันและทำให้ร่างกาย ผ่อนคลายส่วนดนตรีที่มีมากกว่าหนึ่งเสียงและมีจังหวะช้าจะช่วยให้สมองตื่นตัวและมีสมาธิในเวลาเดียวกัน ดนตรีที่แต่งเรียบเรียงเป็นอย่างดี สามารถกำหนดสภาวะร่างกายและสมองของนักเรียนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้
            แหล่งที่มา : คู่มือครูสำหรับเสริมสร้างสมองของเด็กวัยเรียน เขียนโดย คริสทีน วอร์ด สำนักพิมพ์ แฮปปี้ แฟมิลี่
เสียงดนตรี อาหารดี บำรุงกายใจ

            คุณครูทราบไหมคะว่า ดนตรีนอกจากจะช่วยสร้างสีสันความสนุกสนานในห้องเรียนแล้ว ยังมีประโยชน์ สำหรับพัฒนาการของเด็ก ๆ ด้วยนะคะ เราจึงนำประโยชน์ของดนตรีที่มีต่อพัฒนาการของเด็กมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
             พัฒนาการด้านร่างกาย ดนตรีจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็ก เมื่อได้ยินเสียงเพลง เด็ก ๆ ก็ขยับแข้งขยับขา ตบมือ กระโดดโลดเต้นไปตามจังหวะเสียงเพลง เด็กๆ บางคนอาจคิดท่าทางประกอบเพลงขึ้นเอง ทั้งชูมือ ยกแขน ยกขา
            ปัจจุบัน มีการนำดนตรีมาใช้ในการบำบัดอาการบกพร่องทางร่างกายของเด็กบางกลุ่มด้วย เพราะเมื่อเด็กได้ฟังดนตรี ร่างกายของเขาจะตอบสนองโดยการเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง บางคนเผลอเคาะนิ้วตามจังหวะดนตรีอย่างไม่รู้ตัว การฟังดนตรี 20 นาทีต่อวัน จะช่วยให้ระบบการเต้นของหัวใจและระบบอื่น ๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ดนตรีจึงเป็นเสมือนยาบรรเทาอาการเจ็บปวดทางกายได้อย่างเหลือเชื่อ
            พัฒนาการด้านอารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกของคน มีขึ้นมีลงคล้ายท่วงทำนองของดนตรี ดนตรีที่มีจังหวะช้าให้ความรู้สึกสงบ ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ มีสมาธิ สามารถเปลี่ยนเด็กที่ฉุนเฉียว ขี้โมโห ให้กลายเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่ายได้ ขณะที่ดนตรีที่มีจังหวะเร็ว จะทำให้เด็กที่เซื่องซึม รู้สึกคึกคัก สดชื่น สดใส ร่าเริง
            พัฒนาการด้านสังคมเด็ก ๆ วัยอนุบาลเป็นวัยที่หัดเข้าสังคมและมีเพื่อนเล่นมากขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติที่เด็กวัยนี้บางคนจะรู้สึกเขินอาย ไม่กล้าเข้าสังคมหรือกลุ่มเพื่อน การที่เด็กได้ยินเสียงดนตรีและทำกิจกรรมดนตรีร่วมกับเพื่อน ๆ จะทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน สนุกสนาน จนกล้าลุกขึ้นมายักย้ายส่ายสะโพกร่วมกับเพื่อน ๆ และค่อย ๆ เข้ากลุ่มเพื่อนได้โดยไม่รู้สึกขัดเขิน ดนตรีจึงช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นธรรมชาติและมีความสุข
            พัฒนาการด้านสติปัญญา นอกจากดนตรีจะทำให้เด็กอารมณ์ดีมีสมาธิแล้ว ดนตรีที่มีเนื้อร้อง ยังช่วยส่งเสริมสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย เช่น ถ้าเนื้อร้องพูดถึงสัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ เด็ก ๆ ก็จะได้เรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว ว่ามีลักษณะอย่างไร มีจุดเด่นหรือเสียงร้องอย่างไร และยังได้เรียนรู้ภาษาที่สื่อผ่านเนื้อร้องด้วย ส่วนดนตรีบรรเลงที่มีเสียงธรรมชาติประกอบ เช่น เสียงน้ำ เสียงสัตว์ จะทำให้เด็ก ๆ เกิดจินตนาการถึงเสียงที่ได้ยิน ซึ่งการให้เด็กได้ฝึกจินตนาการจะช่วยให้เขารู้จักวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ


แหล่งที่มาดนตรีแสนสุขเขียนโดยดร.แพง ชินพงศ์ สำนักพิมพ์แฮปปี้ แฟมิลี่  

0 ความคิดเห็น:

รู้จักพวกเรา

แจก แบบฝึกคณิตศาสตร์ แบบทดสอบ แบ่งปัน สำหรับเพื่อน วัยเด็ก

เด็ก ๆ น่ารัก 3 พี่น้อง
From January 2, 2013

ค้นหา เนื้อหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Labels