18 กรกฎาคม 2556

การกอด : สร้างความผูกพันอย่างไรในเด็ก (2)

การกอด : สร้างความผูกพันอย่างไรในเด็ก (2)

        จากสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวถึงเรื่องปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความผูกพันในเด็กช่วงเด็กแรกเกิดถึง 2 ปี ซึ่งมีอยู่ 2 ปัจจัยด้วยกันคือ จากการเลี้ยงดูและปัจจัยจากตัวเด็กเอง และจะได้กล่าวถึงปัจจัยที่มีอิทธิพล ต่อการสร้างความผูกพันในเด็กช่วงอายุ 3-5 ปี กันต่อ นอกจากปัจจัยการเลี้ยงดูและปัจจัยจากตัวเด็กที่เหมือนกับเด็กช่วงแรกเกิด-2 ปีแล้ว บทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกวัย 3-5 ปี เป็นปัจจัยต่อการสร้างความผูกพันที่สำคัญ เช่นกัน ได้แก่ 




        1. เข้าใจอารมณ์พื้นฐานของเด็ก เข้าใจลักษณะเด็กวัย 3-5 ปี

        2. แสดงความรักที่มีต่อลูกอย่างชัดเจน หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบ เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัว มีความต้องการแตกต่างกัน ให้ความเข้าใจและยอมรับความสามารถของเด็กในแต่ละช่วงอายุ

        3. ฝึกลูกให้ทำสิ่งต่างๆ ตามความสามารถตามวัย กระตุ้นพัฒนาการทุกด้านทั้งกล้ามเนื้อใหญ่เล็ก ภาษาพูด การช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น รวมทั้งมารยาทในการอยู่กับคนอื่น

        4. ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง โดยจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยให้เด็กได้ออกกำลังกาย ใช้พลังงานในการสร้างสรรค์ เช่น เดาะบอล ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น เพื่อฝึกทักษะในการมองเห็น การรับรู้ การถ่ายทอดข้อมูล การเปรียบเทียบการสรรหาข้อมูลต่างๆ ฯลฯ

        5. มีความอดทนต่อข้อบกพร่องของลูกในพัฒนาการด้านต่างๆ ที่เด็กยังมีความสามารถไม่ถึงจุดที่พ่อแม่ต้องการ เข้าใจหลักในการฝึกฝนว่าต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนหัดทำอย่างสม่ำเสมอ เป็นแบบอย่างที่ดี ช่วยให้เด็กได้รับความสำเร็จเป็นขั้นตอนและชื่นชมให้กำลังใจเป็นระยะและกำจัดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรปล่อยปละละเลย

        6. ปกป้องอันตรายทุกรูปแบบที่อาจเกิดกับเด็ก เพราะวัยนี้เดินได้คล่อง ชอบปีนป่ายจนบางครั้งทำให้เกิดบาดเจ็บได้

วิธีการสร้างความผูกพันเด็กแรกเกิด–5 ปี แบ่งออกเป็น 2 ช่วงอายุ คือ วิธีการสร้างความผูกพันเด็กแรกเกิด–2 ปี และวิธีการสร้างความ ผูกพันลูกวัย 3–5 ปี

วิธีการสร้างความผูกพันเด็กแรกเกิด – 2 ปี ในทารกแรกเกิด จุดเริ่มต้นของความผูกพันระหว่างพ่อแม่และทารกก็คือ การตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างนุ่มนวลทะนุถนอม ซึ่งพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูสามารถสร้างความรักความผูกพันในเด็กอายุ 0-2 ปี ได้ด้วยวิธีการให้อาหาร การสัมผัส-โอบกอด การสื่อสาร-พูดคุย และการมอง-การเล่น

        การที่พ่อแม่สร้างสายสัมพันธ์และความผูกพันที่ดีกับลูกในช่วงต้นของชีวิตนี้ จะทำให้เด็กสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นๆ อีกมากมายในชีวิต สายสัมพันธ์ที่มีคุณค่ามากที่สุด คือ สายใยผูกพันระหว่างมารดากับเด็ก เพราะเป็นความผูกพันครั้งแรก เป็นความผูกพันที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นความผูกพันจากบุคคลที่เด็กรักมากที่สุด หากความผูกพันนี้ขาดหายไป ความผูกพันอื่นๆ พอจะทดแทนได้บ้างแต่ไม่อาจแทนที่กันได้ ความผูกพันเหล่านี้เริ่มตั้งแต่วางแผนจะมีลูก ลูกน้อยเติบโตในครรภ์จนกระทั่งคลอดออกมา เช่น 

        1. การให้นม การดูแลความสะดวกสบายแก่เด็ก เป็นองค์ประกอบขั้นต้นของความผูกพัน การให้นมลูกรวมทั้งการดูแลความสะดวกสบายแก่เด็ก ทำให้เด็กเรียนรู้ว่าการปรากฏตัวของมารดาจะช่วยให้เด็ก หลุดพ้นจากความหิวหรือความไม่สบายต่างๆ ได้

        2. พ่อแม่จะต้องมีความรู้สึกไวต่อสัญญาณที่เด็กแสดงออกถึงความต้องการต่างๆ เช่น ร้องไห้ เพราะหิว ร้องไห้เพราะเจ็บปวด ฯลฯ พ่อแม่จะต้องเรียนรู้และเข้าใจที่จะแปลสัญญาณต่างๆ ของลูกได้ว่าเสียงร้องแบบไหนที่แสดงว่าหิว เสียงร้องแบบไหนที่แสดงว่าลูกป่วย ท่าทีแบบไหนที่แสดงว่าง่วงหรือไม่สบายตัว และสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

        3. พ่อแม่จะเป็นผู้ให้การช่วยเหลือชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติตัวแก่เด็กในเวลาที่เกิดความ ไม่มั่นใจ เมื่อต้องการเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยหรือบุคคลแปลกหน้า

        4. พ่อแม่ควรจะเล่นกับลูกทั้งขณะที่ยังเป็นทารกและเมื่อเติบโตขึ้น การเล่นจะก่อให้เกิดความ ใกล้ชิด การสัมผัสซึ่งกันและกัน รวมทั้งก่อให้เกิดความสุขและความพึงพอใจระหว่างพ่อแม่และเด็กอีกด้วย สัปดาห์หน้าติดตามกันต่อในเรื่อง วิธีการสร้างความผูกพันลูกวัย 3–5 ปี (ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล คู่มือกิน กอด เล่น เล่า (2 2 ล) กับลูกอายุ 0-5 ปี โดยสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)

การกอด : สร้างความผูกพันอย่างไรในเด็ก (3)

        จากสัปดาห์ที่แล้วได้ทิ้งท้ายกันไว้ในเรื่องวิธีการสร้างความผูกพันเด็กแรกเกิด–2 ปี ซึ่งความสำคัญต้องเริ่มกันตั้งแต่การวางแผนมีลูก การให้นม การสัมผัส การสื่อสาร การมอง และการเล่นกับลูก สัปดาห์นี้จะนำเสนอกันต่อถึงวิธีการสร้างความผูกพันลูกวัย 3–5 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงอายุที่โตขึ้น

วิธีการสร้างความผูกพันลูกวัย 3–5 ปี

        1. ให้เวลากับลูก เด็กจะรู้สึกได้ถึงความเอาใจใส่ที่พ่อแม่มีต่อตัวลูก การให้เวลากับลูกแม้ช่วงเวลา สั้นๆ แต่ถ้าพ่อแม่ให้เวลาอย่างสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมที่ลูกสนใจอย่างมีความสุขร่วมกันจะมีค่าต่อความรู้สึกของลูกเป็นอย่างมาก เวลาที่พิเศษสุดสำหรับเด็ก คือ เวลาที่ลูกเดินเข้ามาหาพ่อแม่ เพื่อพูดหรือบอกอะไรบางอย่าง หรือเพื่อขอให้พ่อแม่มาร่วมทำกิจกรรมบางอย่างกับลูกและพ่อแม่ตอบสนองต่อลูกด้วยการหยุดสิ่งที่พ่อแม่กำลังทำอยู่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรวางแผนเรื่องเวลาที่จะให้กับลูกในแต่ละวัน ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว

        2. คุยกับลูก การคุยกับลูกช่วยกระตุ้นทั้งภาษาการสนทนาและทักษะทางสังคมให้กับลูก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเสริมความภาคภูมิใจให้กับลูก การคุยกับลูกควรมีทักษะที่สำคัญคือการใส่ใจและรับฟังสิ่งที่ลูกมีความสนใจ การสังเกตสิ่งที่ลูกทำด้วยความสนใจแล้วคุยกับลูกเกี่ยวกับกิจกรรมนั้นจะเป็นการเริ่มต้นการพูดคุยที่ลูกต้องการและพร้อมที่จะพูดคุยกับพ่อแม่

        3. แสดงความรัก การแสดงออกถึงความรักเป็นการแสดงความสนใจ ความเอาใจใส่ต่อลูกด้วยการ สัมผัสโอบกอด อุ้มชู ช่วยให้ลูกรู้สึกได้ถึงความรัก ความสุข สามารถรับและให้ความรู้สึกที่ดีแก่ผู้อื่นได้ต่อไป การแสดงความรักในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต จะช่วยให้ลูกเกิดความผูกพันที่ลึกซึ้งและมั่นคงกับพ่อแม่

        4. แสดงความชื่นชม เด็กมีความพึงพอใจเมื่อได้รับคำชมจากพ่อแม่ ควรชมลูกเมื่อลูกมี พฤติกรรมที่ดี ด้วยคำพูดทั่วไป เช่น ยอดเลยลูก เยี่ยมมาก พ่อ/แม่ชอบมาก เป็นต้น หรือบอกถึงสิ่งที่คุณพอใจอย่างชัดเจน เช่น แม่พอใจมากที่ลูกช่วยกันเก็บของเล่นหลังจากเล่นเสร็จแล้ว เป็นต้น การบอกที่เฉพาะเจาะจงจะให้ผลดีกว่าคำชมทั่วไป เพราะช่วยให้เด็กเข้าใจว่าพฤติกรรมใด ที่เขาทำแล้วได้รับคำชมและทำให้เด็กอยากทำพฤติกรรมนั้นซ้ำ

        5. ความสนใจลูก การแสดงความสนใจลูกทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ยิ้ม สบตา อุ้มลูกนั่งบนตัก ลูบแก้ม ตบบ่าเบาๆ กอด หรือนั่งอยู่กับลูก การแสดงความสนใจเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดีต่อเนื่องและสามารถใช้ร่วมกับการให้คำชม

        6. การสร้างกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยให้ลูก การที่พ่อแม่ช่วยให้ลูกมีกิจกรรมที่สามารถเล่นได้ตาม ลำพัง และพัฒนาการเล่นได้ด้วยตนเองตามวัยภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย มีสิ่งที่น่าสนใจหลากหลายที่เด็กจะค้นคว้าเรียนรู้ เป็นการกระตุ้นพัฒนาการตามวัย เด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับกิจกรรมเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีของลูก ของเล่น และกิจกรรมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่ต้องเป็นสิ่งที่ลูกมีความสนใจ

        จะเห็นว่าการสร้างความผูกพันในเด็กนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง และทำได้ไม่ยากตามวิธีการที่นำเสนอไป เพราะเด็กแรกเกิด-5 ปี นั้นต้อการพ่อแม่ ผู้ใหญ่ในการอบรมเลี้ยงดู ปกป้องคุ้มครอง ให้ความรัก ความอบอุ่น เอาใจใส่อย่างใกล้ชิด การอบรมเลี้ยงดูที่มีคุณภาพจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโต สุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการสมดุลทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคม 

        (ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล คู่มือกิน กอด เล่น เล่า (2 2 ล) กับลูกอายุ 0-5 ปี โดยสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)



          ที่มา   ฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลสวนปรุง


0 ความคิดเห็น:

รู้จักพวกเรา

แจก แบบฝึกคณิตศาสตร์ แบบทดสอบ แบ่งปัน สำหรับเพื่อน วัยเด็ก

เด็ก ๆ น่ารัก 3 พี่น้อง
From January 2, 2013

ค้นหา เนื้อหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Labels