16 กรกฎาคม 2556

การกอด : สร้างความผูกพันอย่างไรในเด็ก

การกอด : สร้างความผูกพันอย่างไรในเด็ก (1)

        ความผูกพันเป็นพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง ด้วยความมั่นคงเป็นระยะเวลานาน ซึ่งความสัมพันธ์นี้เกิดจากการตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กที่มีการปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ความห่วงใยและเอื้ออาทรต่อกัน

        เด็กที่มีความผูกพันกับพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความปรารถนาที่จะอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลนั้น เช่น ยิ้มมองตามการเคลื่อนไหว คลานเข้าไปหา เรียกหาอวดของเล่น ร้องไห้เมื่ออยู่ห่างจากคนคนนั้น แสดงอาการเพลิดเพลินสนุกสนานหรือคลายจากอาการเป็นทุกข์ เมื่อบุคคลนั้นกลับมา




        ความผูกพันนั้นสำคัญอย่างไร เด็กที่ได้รับความผูกพันและการตอบสนองจากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูอย่างถูกต้องเหมาะสมจะสามารถสร้างความผูกพันระหว่างตนเองและพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูได้ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น เมื่อเติบโตขึ้นจะเป็นผู้ที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มเพื่อนใหม่และคนแปลกหน้าได้ ช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพและประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นพื้นฐานที่ดีในการพัฒนาอีคิวเด็กในวัยต่อไป

        เด็กที่ถูกทอดทิ้งไม่เคยถูกอุ้ม ยิ้มด้วยหรือพูดด้วยจะมีความผิดปกติที่เรียกว่า อาการโดดเดี่ยวทางสังคมชอบแยกตัวอยู่คนเดียว โยกตัวเอง ไม่สนใจที่จะเล่นหรือพูดคุยกับคนอื่น

        เด็กที่ได้รับการตอบสนองที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม หรือเด็กที่ขาดความรักความผูกพันจะส่งผลให้เป็นคนที่ไว้วางใจผู้อื่น มองโลกในแง่ร้าย และสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ยาก

        ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความผูกพันในเด็ก แบ่งเป็น 2 ช่วงอายุ คือ ช่วงเด็กแรกเกิด-2 ปี และช่วงเด็กอายุ 3-5 ปี

        ในเด็กแรกเกิด-2 ปี นั้น ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความผูกพันมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่

1. ปัจจัยการเลี้ยงดู

        - ความคาดหวังในเรื่องเพศของเด็ก ความคาดหวังที่จะให้ทารกเกิดมาสมบูรณ์ ไม่พิการ รวมทั้งการไม่ได้คาดหวังว่าเด็กจะเกิดมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จะทำให้พ่อแม่ / ผู้เลี้ยงดูรู้สึกเจ็บปวดและยากที่จะสร้างความสัมพันธ์กับเด็กได้

        - การตอบสนองความต้องการทางร่างกายของเด็ก พ่อแม่ / ผู้เลี้ยงดูที่ตอบสนองความต้องการทางร่างกายของเด็ก (เช่น ให้อาหารหรือตอบสนองความไม่สุขสบายต่างๆ เช่น เปียกแฉะ การเล่นกับเด็ก ฯลฯ) จะเป็นผู้ที่เด็กผูกพันด้วย

        - การสัมผัสเด็กไม่ว่าจะเป็นการอุ้ม กอด ลูบ หรือตบก้นทารกจะต้องกระทำด้วยความนุ่มนวลและอบอุ่น ปฏิบัติกับเด็กด้วยความทะนุถนอมจากจิตใจที่เต็มไปด้วยความรัก ความห่วงใย จึงจะเป็นการสัมผัสที่มีคุณภาพ แต่ปริมาณน้อยเกินไปจะไม่มีผลต่อความผูกพันของเด็ก เด็กที่ได้รับการสัมผัสบ่อยๆ จะทำให้เกิดความอบอุ่น เกิดความมั่นคงในจิตใจ ไว้วางใจผู้อื่น นำไปสู่การสร้างสัมพันธภาพและสานความผูกพันที่มั่นคงกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

        - แบบแผนการเลี้ยงดูของพ่อแม่จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก เช่น ในบางชนชาติต้องการให้เด็ก สงบเงียบ เพราะเชื่อว่าความสนุกสนานจะดึงดูดให้เกิดความอิจฉา จึงเลี้ยงดูโดยที่แม่และเด็กจ้องมองซึ่งกันและกันน้อยมาก เมื่อเติบโตขึ้นเด็กเหล่านี้จะชอบอยู่เฉยๆ ไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ เป็นผู้ริเริ่มปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยมา

2. ปัจจัยจากตัวเด็ก

        - เด็กที่มีลักษณะดึงดูดใจสามารถสร้างความผูกพันได้ดีกว่าเด็กที่มีลักษณะไม่ดึงดูดใจ เช่น เด็กที่มีศีรษะใหญ่ ตัวอ้วน แก้มยุ้ยและนิ่ม จะทำให้ผู้เลี้ยงชอบที่จะอุ้มโอบกอด และตอบสนองต่อเด็กมากกว่า

        - การที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบ เช่น จ้องมอง ยิ้ม ส่งเสียงอ้อแอ้ จะช่วยให้ผู้เลี้ยงดูสามารถเข้าใจสัญญาณความต้องการต่างๆ ของเด็กได้ดีขึ้น จะส่งผลให้เกิดความพึงพอใจต่อเด็กและผู้เลี้ยงดู

        - พื้นฐานทางอารมณ์ของเด็ก เด็กที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ไม่ร้องกระจองอแง จะทำให้ผู้เลี้ยงดูรู้สึกสบายใจและมีความสุขที่ได้เลี้ยงเด็ก และจะแสดงออกโดยการให้ความรักแก่เด็ก ในทางตรงกันข้ามเด็กที่อารมณ์เสีย ร้องไห้บ่อย อยู่ไม่สุข ไม่ค่อยยิ้ม ร้องหาหรือแสดงว่าอยากอยู่ใกล้แม่ ก็จะทำให้แม่รู้สึก ไม่สบายใจและหยุดที่จะแสดงความรักและความเอาใจใส่ต่อลูก ติดตามตอนต่อไป ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความผูกพันในเด็กช่วงอายุ 3-5 ปี และวิธีการสร้างความผูกพันในสัปดาห์หน้า (ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล คู่มือกิน กอด เล่น เล่า (2 2 ล) กับลูกอายุ 0-5 ปี โดยสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)


ที่มา   ฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลสวนปรุง


0 ความคิดเห็น:

รู้จักพวกเรา

แจก แบบฝึกคณิตศาสตร์ แบบทดสอบ แบ่งปัน สำหรับเพื่อน วัยเด็ก

เด็ก ๆ น่ารัก 3 พี่น้อง
From January 2, 2013

ค้นหา เนื้อหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Labels