11 กุมภาพันธ์ 2558

การป้องกันโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

ทำไมเด็กจึงเกิดมาเป็นโรคหัวใจ

ปัจจุบันมีทารกที่เกิดมาเป็นโรคหัวใจประมาณ 8 คน ในจำนวนทารกที่เกิดมา 1,000 คน โดยพบสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดมาเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ดังนี้

          1.  การถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคหัวใจบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นทารกที่เกิดมาในครอบครัวที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดด้วย

          2.  ความผิดปกติของโครโมโซม โดยมีความผิดปกติเกิดขึ้นในขณะที่มีการจับคู่ของโครโมโซมที่เป็นส่วนประกอบของไข่จากมารดาและโครโมโซมที่เป็นส่วนประกอบของอสุจิจากบิดาแล้วทำให้เด็กที่เกิดมามีความผิดปกติ เช่น การมีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ทำให้เกิดความพิการทางสมองและมีความพิการของหัวใจร่วมด้วย

          3. ผลจากสิ่งแวดล้อม โดยมารดาได้รับ สารเคมี ยา ติดเชื้อ หรือมีความเจ็บป่วย รวมทั้งมลพิษต่าง ๆ แล้วทำให้กระทบกระเทือนต่อการสร้างอวัยวะของตัวอ่อนในครรภ์








 ยาหรือสารเคมีที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อหัวใจเด็กในครรภ์ ได้แก่

-เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำให้ทารกมีรูรั่วของผนังกั้นห้องหัวใจห้องบนหรือหัวใจห้องล่าง

-ยากระตุ้นประสาทแอมเฟตามีน (amphetamine) ทำให้ทารกมีรูรั่วของผนังกั้นห้องหัวใจห้องบนหรือหัวใจห้องล่างหรือมีเส้นเลือดหัวใจเกิน

-ยากันชักฟีไนโตอีน (phenytoin)  ทำให้ทารกมีลิ้นหัวใจตีบ

-ยาที่มีฮอร์โมน ทำให้ทารกมีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจห้องล่างหรือเส้นเลือดดำและแดงของหัวใจอยู่สลับที่กันหรือเป็นโรคหัวใจทีโอเอฟ

 ความเจ็บป่วยของมารดาในระหว่างตั้งครรภ์ที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อหัวใจเด็ก ได้แก่

-โรคหัดเยอรมัน ทำให้ทารกมีลิ้นหัวใจตีบหรือมีรูรั่วของผนังกั้นห้องหัวใจห้องล่างหรือมีเส้นเลือดหัวใจเกิน

-โรคคางทูม ทำให้ทารกมีความผิดปกติของเยื่อบุภายในหัวใจ

-โรคเบาหวาน ทำให้ทารกมีเส้นเลือดดำและแดงของหัวใจอยู่สลับที่กัน

-โรคเอสแอลอี (แพ้ภูมิตนเอง) ทำให้ทารกมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแล้วทำให้หัวใจบีบตัวผิดปกติ

 จะป้องกันไม่ให้เด็กเกิดมาเป็นโรคหัวใจได้อย่างไร

          1.  เมื่อต้องการจะมีบุตร บิดามารดาควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับโรคหัวใจที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมก่อนการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมารดาที่เคยมีบุตรหรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางโครโมโซมจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจในบุตรคนต่อไป ดังนี้        

         - บิดาเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด บุตรมีโอกาสเป็น 2-3 %

          -มารดาเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด บุตรมีโอกาสเป็น 5-10

         -กรณีที่บุตรคนแรกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คนต่อไปมีโอกาสเป็น 2-3 %

          -มีบุตรเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 2 คน บุตรคนต่อไปมีโอกาสเป็น 10 %

         -มีบุตรเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป คนต่อไปมีโอกาสเป็น 50 %

          2.  ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันในกรณีที่ไม่เคยเป็นโรคนี้ หรือไม่ได้รับวัคซีนป้องกันมาก่อน โดยควรฉีดป้องกันก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน

          3.  หลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิดในขณะตั้งครรภ์ และปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง          
          4.  งดการดื่มสุราในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
          5.  กรณีที่เป็นโรคเบาหวาน หรือโรคทางระบบต่อมไร้ท่ออื่น ๆ เช่น ไทรอยด์ หรือต้องรับประทานยาเป็นประจำในการรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์

          6.  หากมีความเสี่ยงต่าง ๆ ดังกล่าวควรรับการตรวจทารกด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงเมื่ออายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ จะช่วยให้ทราบความผิดปกติของทารกได้ เพื่อที่จะได้วางแผนการช่วยเหลือต่อไป

         7.  ควรฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์และไปตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้งเพื่อตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์อย่างต่อเนื่อง



ที่มา
ที่ปรึกษา     ศ.นพ.จุล  ทิสยากร  ,    รศ.นพ.ไพโรจน์  โชติวิทยธารากร
จัดทำโดย   น.ส.อรจิรา เทียนน้ำเงิน
              ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงประจำหอผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจสก.6     โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย






0 ความคิดเห็น:

รู้จักพวกเรา

แจก แบบฝึกคณิตศาสตร์ แบบทดสอบ แบ่งปัน สำหรับเพื่อน วัยเด็ก

เด็ก ๆ น่ารัก 3 พี่น้อง
From January 2, 2013

ค้นหา เนื้อหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Labels