28 กุมภาพันธ์ 2556

การเลี้ยงลูกวัย 6-12 ปี(ต่อ)


การดูแลและการส่งเสริมคุณภาพ


ความสัมพันธ์

                ความสัมพันธ์ของคนสองคนเกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันมีอะไรคล้ายๆกัน เช่นสนใจสิ่งเดียวกัน มีทัศนคติความเชื่อคล้ายคลึงกัน มีใจตรงกันหลายๆเรื่อง  มีโอกาสได้แลกเปลียนความคิดเห็น ร่วมใช้ชีวิตหรือมีประสบการณ์ต่างๆร่วมกัน และเมือมิตรภาพเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เกิดความรัก ผูกพันเพิ่มความเอื้ออาทรต่อกัน จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ลึกซึ้งกัน



            การใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดียวกัน ไม่ได้บ่งชี้ว่า จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยังต้องใช้ทักษะต่างๆเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในบ้าน ซึ่งจะเป็นรากฐาน ทำให้เด็กสามารถไปสร้างความสัมพันธ์กับครู เพื่อน  หรือคู่ชีวิตได้ในเวลาต่อมา
                ขณะเดียวกัน พ่อแม่ จะต้องคงความสมดุลระหว่างความสนิทสนมหรือความเป็นเพื่อน กับความเป็นพ่อแม่ที่มีอำนาจปกครองลูก นั้นหมายความว่าลูกจะรู้สึกสนิทสนมกับพ่อแม่แต่ก็ยอมรับความเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หลายบ้านทำได้ดีคือได้รับความสนิทสนมและสามารถฝึกลูกให้มีกฎเกณฑ์ อยู่ในกติกาของบ้านได้ แต่หลายบ้านที่พ่อแม่ใจอ่อน ไม่เข็มแข็ง จะโอนอ่อนกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ลูกมากเกินไป  ถึงแม้ว่าจะคงความสนิทสนมกับลูกได้ แต่ก็เสียอำนาจในการปกครองลูกให้อยู่ในระเบียบวินัย
หลักการง่ายๆในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน
                1.ให้เกียรติในความเป็นคน ๆหนึ่ง ถึงแม้ว่าอีกฝ่ายจะเด็กกว่า รู้น้อยกว่า ด้อยประสบการณ์กว่าก็ตาม
                2.เชื่อมั่นว่าเด็กอยากเป็นคนดีและเก่ง ถึงแม้ว่าตอนนี้อาจทำอะไรไม่เก่งเท่าผู้ใหญ่ แต่ถ้าได้รับการฝึกฝน บ่อยๆ ก็จะเก่งขึ้น นอกจากนี้เด็กต้องการความรักความเอาใจใส่จากผู้อื่น
                3.ทุกคนอยากได้กำลังใจเมื่อชีวิตพบอุปสรรค และอยากได้คนชื่นชมเมื่อทำงานได้สำเร็จ
                4.ปรับตัวให้เข้ากัน รับฟัง ทำความเข้าใจ  ให้โอกาส ให้อภัย
                5.พูดจริงใจ พูดในสิ่งที่มีประโยชน์
                6. รักษาความลับอย่างเหมาะสม
                7.ใช้เวลาที่มีด้วยกันให้เกิดคุณค่า เป็นประโยชน์ และเด็กเองก็รู้ว่าอยู่ใกล้พ่อแม่แล้วจะเก่งขึ้น ทำอะไรได้มากขึ้น
                8. รักษาระดับความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่เหมาะสม
ความเชื่อและมุมมอง
                ความเชื่อที่ว่า "แล้วโตขึ้นก็ได้เรียนรู้เอง" เป็นความเชื่อที่ทำให้พ่อแม่เลี้ยงลูกผิดพลาดมามากแล้ว ท่ามกลางสังคมที่สับสน พ่อแม่มีเวลาให้ลูกน้อย ส่วนหนึ่งเพื่อหารายได้เพิ่ม แต่ก็มีพ่อแม่อีกหลายคนมีเวลาอยู่ด้วยกันกับเด็กมากพอ แต่ไม่มีเป้าหมายในการเลี้ยงดูที่ชัดเจน ในการสร้างความสามารถด้านต่างๆให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก  เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตต่อไป
การสร้างคนเป็นงานที่ต้องลงทุนทั้งด้านความคิด กำลังกาย  กำลังใจ ทุนทรัพย์ และเวลาที่มีคุณภาพ  นอกจากนี้ยังเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องระยะยาวจึงเป็นงานที่ท้าทายความเป็นพ่อแม่ พ่อแม่ที่มองการณ์ไกล คิดรอบคอบ และวางแผนเพื่อให้ถึงจุดหมายที่ต้องการ เพื่อประโยชน์สุขของลูก จะทำให้ลูกประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิต

 วิธีเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้
                1.บรรยากาศในบ้านที่มีความสุข สามัคคี พ่อแม่รักกัน ฝึกฝนลูกในทิศทางเดียวกัน ตรงกับความคาดหวังของสังคม
                2.มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก มีความสมดุลระหว่างความสนิทสนม กับความเป็นผู้ที่มีอำนาจปกครอง คือมีทั้งพระเดชและพระคุณ
                3.สื่อสารชัดเจน ไม่คลุมเครือ เป็นประชาธิปไตย คือพ่อแม่ลูกพูดกันได้ ในทุกเรื่องทั้งเรื่องดีและไม่ดี  ทั้งเรื่องถูกต้องและผิดพลาด
                4.ยอมรับว่าเด็กเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณค่า มีความสามารถในตัวถ้าได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม
                5. เป็นต้นแบบที่ดี มีระเบียบวินัย  จัดการชีวิตอย่างเหมาะสม มีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม  มีการดำเนินชีวิตที่มีการวางแผน เป็นไปตามขั้นตอนอย่างรอบคอบ และมีหลักการที่ถูกต้อง มีการดำเนินชีวิตที่มีการวางแผน เป็นไปตามขั้นตอนอย่างรอบคอบและมีหลักการที่ถูกต้อง เวลาเผชิญปัญหา มีจิตใจสงบมั่นคง และแสวงหาทางออกอย่างถูกต้องเหมาะสม
                6.ฝึกฝนให้มีระเบียบวินัย ใช้ความหนักแน่น มั่นคง สม่ำเสมอในการฝึกสอน
                7.เปิดโอกาสเรียนรู้ผ่าหลายประสบการณ์ โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ช่วย ให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่างมุมมอง
                8.ฝึกหัดและเปิดโอกาสให้แก้ไขปัญหา ต่างๆ ด้วยตัวเองให้มากที่สุด

ที่มา คู่มือการเลี้ยงลูก ตอน วัย 6-12 ปี พญ. วินัดดา ปิยะศิลป์  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ 

0 ความคิดเห็น:

รู้จักพวกเรา

แจก แบบฝึกคณิตศาสตร์ แบบทดสอบ แบ่งปัน สำหรับเพื่อน วัยเด็ก

เด็ก ๆ น่ารัก 3 พี่น้อง
From January 2, 2013

ค้นหา เนื้อหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Labels