3 มีนาคม 2556

ปัญหาที่พบบ่อยในเด็กวัยเรียน



โรคสมาธิสั้น
(Attention Deficit  Hyperactivity Disorder-ADHD)
                กลุ่มอาการที่ประกอบด้วย การขาดสมาธิ มีความลำบากในการควบคุมตนเองและอาการซุกซน เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนอายุ  7 ขวบ มีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น บางคนอาจมีอาการซน และการขาดความสามารถในการควบคุมตนเองเป็นอาการหลัก ซึ่งพบได้บ่อย ในเด็กผู้ชาย หรือบางคนอาจมีอาการขาดสมาธิเป็นปัญหาหลัก ซึ่งพบได้บ่อยๆ พอๆกันในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย
                พบได้บ่อยทั่วโลก ประมาณ 3-5% ของเด็กในวัยเรียนเป็นโรคสมาธิสั้น เด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นร้อยละ 30 เรียนหนังสือหรือทำงานได้ตามปกติ แต่ส่วนใหญ่ยังมีสมาธิสั้นอยู่

                 จะสังเกตได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่
ก.การขาดสมาธิ พบว่าเด็กจะ
                1.ไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
                2.ไม่สมาธิในขณะทำงานหรือเล่น
                3.ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย
                4.ไม่สามารถตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดได้ ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ
                5.ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
                6.มีปัญหาหรือพยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิดหรือสมาธิ
                7.วอกแวกบ่อยๆ
                8.ทำของใช้ส่วนตัวหรือของใช้ที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียนหายเป็นประจำ
                9.ขี้ลืม
ข.อาการซุกซน และมีความลำบากในการควบคุมตนเอง จะมีลักษณะดังนี้
                1.ยุกยิก อยู่ไม่สุข
                2.นั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อยๆขณะอยู่ที่บ้านหรือห้องเรียน
                3.ชอบวิ่งหรือปีนป่ายสิ่งต่างๆ
                4.พูดมาก พูดไม่หยุด
                5.เล่นเสียงดัง
                6.ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย
                7.ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถามโดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
                8.รอคอยไม่เป็น
                9.ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่
หากเด็กมีลักษณะ ในข้อ ก  หรือข้อ ข รวมกันมากกว่า 6 รายการ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น
สาเหตุ
                เกิดจากความบกพร่องของสารเคมีที่สำคัญบางตัวในสมอง โดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30-40 %ของเด็กสมาธิสั้น จะมีคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งมีปัญหาอย่างเดียวกัน ปัจจัยจากการเลี้ยงดูหรือสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการหรือความผิดปกติดีขึ้นหรือแย่ลง มารดาที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด เช่นตะกั่วในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นสมาธิสั้นสูง
                ไม่พบว่าการบริโภคน้ำตาลหรือชอกโกเลตมากเกินไป การขาดวิตามิน สีผสมอาหาร โรคภูมิแพ้ การดูทีวีหรือเล่นวีดีโอเกมมากเกินไป เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น
ข้อแนะนำในการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น
                1.จัดที่นั่งหน้าชั้นหรือใกล้ครูให้มากที่สุดในขณะสอน
                2.จัดให้เด็กนั่งอยู่กลางห้อง หรือให้ไกลจากประตู หน้าต่างเพื่อลดโอกาสที่เด็กจะถูกทำให้วอกแวกโดยสิ่งต่างๆนอกห้องเรียน
                3.เขียนการบ้านหรืองานที่เด็กต้องทำในชั้นเรียนให้ชัดเจนบนกระดานดำ
                4.ตรวจสมุดจดงานของเด็กเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจดงานได้ครบ
                5.อย่าสั่งงานให้เด็กทำด้วยวาจา พร้อมกันทีเดียวหลายๆคำสั่ง ควรให้เวลาให้เด็กทำเสร็จทีละอย่าง ก่อนให้คำสั่งต่อไป
                6.คิดรูปแบบวิธีเตือนหรือเรียกให้เด็กกลับมาสนใจบทเรียนโดยไม่ให้เด็กเสียหน้า
                7.จัดให้เด็กที่อยู่ไม่สุข มีโอกาสใช้พลังงานในทางสร้างสรรค์ เช่นมอบหมายหน้าที่ ให้ช่วยครูเดินแจกสมุดให้เพื่อนๆในห้อง เป็นต้น
                8.ให้คำชมเชยหรือรางวัล เมื่อเด็กปฏิบัติตัวดี หรือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์
                9.หลีกเลี่ยงการใช้วาจาตำหนิ ว่ากล่าวรุนแรง หรือทำให้เด็กอับอายขายหน้า
                10 หลีกเลี่ยงการตี หรือการลงโทษทางร่างกายเมื่อเด็กทำความผิด
                11ใช้การตัดคะแนน งดเวลาพัก ทำเวร หรืออยู่ต่อหลังเลิกเรียน(เพื่อทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ)เมื่อเด็กทำความผิด
                12.ให้เวลากับเด็กนานขึ้นกว่าเด็กปกติระหว่างสอบ


ที่มา   คู่มือการเลี้ยงลูก ตอนวัย 6-12 ปี พญ. วินัดดา ปิยะศิลป์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์




0 ความคิดเห็น:

รู้จักพวกเรา

แจก แบบฝึกคณิตศาสตร์ แบบทดสอบ แบ่งปัน สำหรับเพื่อน วัยเด็ก

เด็ก ๆ น่ารัก 3 พี่น้อง
From January 2, 2013

ค้นหา เนื้อหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Labels